ข่าว ‘ธีออส’ ส่งขึ้นวงโคจร 1 ต.ค. นี้แล้ว

theos03 แหล่งข่าว http://www.gistda.or.th/Gistda/THEOS_launch1.html

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย หรือธีออส ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเวลา 13.37 นาที วันนี้ (1 ต.ค.) ตามเวลาในประเทศไทย หรือ 06.37 น. ตามเวลามาตรฐานสากล (UTC) โดยธีออสถูกส่งจากฐานยาสนี (Yasny) ประเทศรัสเซีย ด้วยจรวดนำส่งเนปเปอร์ (Dnepr) ตามกำหนดการเดิม ทั้งนี้ หลังจากที่ธีออสขึ้นสู่วงโคจรประมาณ 1 ชั่วโมง จะส่งสัมผัสแรก หรือ First contact ไปยังสถานีรับสัญญาณดาวเทียม ที่ประเทศสวีเดน โดยคาดว่าประเทศไทยจะรับสัญญาณจากธีออสได้ในเวลา 21.00 น. ของวันนี้

นายชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี อวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้งานธีออส คาดว่าจะต้องใช้เวลาตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ บนดาวเทียม เช่น กล้องถ่ายภาพ และอุปกรณ์ส่งสัญญาณ คาดว่าประมาณ 3 เดือนจะสามารถให้บริการภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออสได้ ซึ่งขณะนี้ประเทศสวีเดนมีความสนใจที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายภาพถ่ายดาวเทียมธีออส รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่แสดงความจำนงเข้ามาพอสมควร

ธีออสเป็นดาวเทียมขนาดเล็กมีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม และมีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลก บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้อง (Optical System) ความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร และมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี.

การส่งดาวเทียมธีออส จากฐานปล่อยประเทศรัสเซียผ่านได้มีการรายงานเสียงทางโทรศัพท์ ณ สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวว่า จรวดเนเปอร์ (Dnepr) ได้นำธีออส ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยแรงขับเคลื่อนของจรวดท่อนที่ 1 ซึ่งแยกตัวและตกลงสู่พื้นโลกที่ประเทศคาซัคสถาน เมื่อทะยานขึ้นไปได้ 110 วินาที และสูงจากพื้นโลก 60 กิโลเมตร
       จากนั้นจรวดท่อนที่ 2 ได้นำดาวเทียมไปอีก 180 วินาที สู่ความสูง 300 กิโลเมตร ก่อนแยกตัวตกในมหาสมุทรอินเดีย และจรวดส่วนสุดท้าย นำดาวเทียมขึ้นสู่ความสูง 690 กิโลเมตร และธีออสได้แยกตัวออกไปโคจรอิสระ และในเวลา 15.09 น. ของวันที่ 1 ต.ค.51 ตามเวลาประเทศไทย สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียที่เมืองคิรูนา สวีเดนติดต่อกับธีออสได้เป็นครั้งแรก

================================================

แหล่งข่าว : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000092450

ผู้จัดการ online

เลื่อนส่ง "ธีออส" เลื่อนไร้กำหนด

ผู้บริหาร สทอภ. เผยเลื่อนส่ง "ธีออส" เหตุ "คาซัคสถาน" ที่ยอมให้ชิ้นส่วนจรวดท่อนแรกตกในพื้นที่เกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน แจงกำลังพิจารณาเพื่อเรียกร้องค่าปรับตามกฎหมายได้หรือไม่ หากตกลงไม่ได้จะกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ และต้องตั้งอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับของกฎหมายอังกฤษต่อไป

_________________________________________________________________________

แหล่งข่าว : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000091862

ผู้จัดการ online

ลุ้นกันมานานว่า "ธีออส" จะได้ขึ้นฟ้าเมื่อไร หลังเลื่อนมาหลายครั้งหลายครา ล่าสุด "สทอภ." ส่งสัญญาณว่า ดาวเทียมดวงแรกของไทย "ได้ขึ้นฟ้าแน่" โดยร่อนแฟกซ์เชิญนักข่าว ร่วมงานส่งดาวเทียมที่สถานีรับสัญญาณศรีราชา ชมถ่ายทอดสดจากฐานปล่อยจรวดที่รัสเซีย

หลังจากได้รับโทรสาร (แฟกซ์) จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.ที่ ส่งมาในช่วงหัวค่ำของวันที่ 4 ส.ค.51 ให้ร่วมทำข่าวการส่งดาวเทียมธีออส (Theos) ขึ้นสู่วงโคจร ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ เวลา 11.00-15.30 ณ สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้สอบทราบความพร้อม ไปยัง ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผอ.สทอภ. ถึงความแน่นอนล่าสุด ในการส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ที่ได้รับการการันตีว่าเป็นดวงแรกของไทย

ผอ.สทอภ.เปิดเผยว่า ดร.ดาราศรี ดาวเรือง รอง ผอ.สทอภ.ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับดาวเทียมในขั้นสุดท้าย ได้เดินทางไปยังประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบในขั้นสุดท้ายก่อนมีการยิงจรวดนำส่งดาวเทียม

ทั้งนี้ รอง ผอ.สทอภ.ได้ตรวจความพร้อมของจรวด และเชื้อเพลิง ซึ่งดาวเทียมก็ติดตั้งบนหัวจรวด เพื่อเตรียมส่งไว้นานแล้ว และได้รายงานกลับมาว่า จะ มีการส่งดาวเทียมธีออสวันที่ 6 ส.ค.นี้อย่างแน่นอน โดยจะส่งในเวลา 13.37 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จากฐานปล่อยจรวดยัสนี (Yahni) ชายแดนประเทศรัสเซีย

อีกทั้ง ดร.ธงชัยเผยว่า กำหนดส่งดาวเทียมได้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค.51 ซึ่งเดิมได้จองโรงแรมหลายแห่ง เพื่อเตรียมแถลงข่าวให้ใหญ่โต แต่ด้วยกำหนดการที่ไม่แน่นอน จึงได้ยกเลิกไปเนื่องจากหากไม่ได้ส่งจริงๆ แล้วจะ "หน้าแตก" พร้อมทั้งบอกว่าที่ต่งประเทศเองก็ไม่มีการแถลง เพราะเป็นเรื่องไม่แน่นอน อากาศไม่แน่นอน และจะแถลงเมื่อส่งขึ้นไปแล้ว และสาเหตุที่เลื่อนส่วนใหญ่เป็นเพราะสภาพอากาศ

สำหรับปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถส่งดาวเทียมธีออสได้นั้น ดร.ธงชัยระบุว่า เป็นเพราะจรวดท่อนแรก จะตกที่ทะเลทรายของอุซเบกิสถาน แต่ทางรัสเซียไม่สามารถเจรจาตกลงกับอุซเบกิสถานได้

แต่ล่าสุดทางรัสเซียตกลงที่จะเบนทิศทางของจรวด ให้ท่อนแรกไปตกที่คาซัคสถานแทน ซึ่งการเบี่ยงเส้นทางของดาวเทียมดังกล่าว จะทำให้ธีออสเข้าสู่วงโคจรช้าลงจากเดิม 2 วัน คือหากให้ตกที่อุซเบกิสถานจะใช้เวลา 8 วัน แต่หากให้ตกที่คาซัคสถานจะใช้เวลา 10 วัน

หลังส่งธีออสขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศซึ่ง ดร.ดาราศรีจะรับผิดชอบ รายงานสดจากฐานปล่อยจรวด พร้อมด้วยการถ่ายทอดภาพและเสียงนั้น ทาง สทอภ.จะได้แถลงข่าวความคืบหน้าว่า ดาวเทียมมุ่งไปถึงไหนแล้วในวันที่ 7 ส.ค.51

อย่างไรก็ดีไม่มีการถ่ายทอดสัญญาณ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม

ดร.ธงชัยยังเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์อีกว่า ต้องใช้เวลาเดือนกว่าๆ ดาวเทียมจึงจะเริ่มบันทึกภาพได้ เนื่องจากดาวเทียมต้องใช้เวลาเฝ้าวงโคจร และรอให้ฝ้าที่กระจกหายไปเสียก่อน

นอกจากนี้ ผอ.สทอภ.ยังเปิดใจว่า ตอนนี้หายตื่นเต้นแล้ว เนื่องจากเลื่อนมาหลายครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องปกติของการส่งดาวเทียม คนในวงการจะทราบดี คงตื่นเต้นอีกทีวันยิง และรับว่าเหนื่อยที่ต้องลุ้นการส่งดาวเทียม

ทั้งนี้ สทอภ.รับผิดชอบในการว่าจ้างบริษัทอีเอดีเอส เอสเตรียม (EADS Astrium) ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่สัญญาในการผลิตและส่งดาวเทียมธีออส ตั้งแต่ ก.ค.47 แรกทีเดียวกำหนดส่ง ก.ค.50 ซึ่งเป็นกำหนดก่อนดาวเทียมแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 50 แต่ได้เลื่อนออกมาเป็น ต.ค. และมีการเลื่อนอีก 3-4 ครั้ง จนกระทั่งกำหนดล่าสุดซึ่งมีการเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวในวันที่ 6 ส.ค.นี้

ในส่วนของคุณสมบัตินั้น ธีออสเป็นดาวเทียมขนาดเล็กมีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม และมีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลก บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้อง (Optical System) ความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร และมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี.

และการทำโครงการนี้ เลือกบริษัทแอสเทรียมให้สร้างดาวเทียมให้ เนื่องจากเป็นบริษัทที่ดีที่สุด และรัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุน โดยในความร่วมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือหลายด้าน อาทิ ทุนจำนวน 24 ทุน สำหรับศึกษาทางด้านอวกาศระดับปริญญาตรี-โท-เอก ซึ่งหาที่เรียนไม่ง่าย และยังได้ภาพถ่ายดาวเทียมจากดาวเทียมสปอตของฝรั่งเศสเป็นเวลา 3 ปี สำหรับข้อมูลดาวเทียมปีละ 20,000 วินาที ซึ่งปกติต้องซื้อข้อมูล 15,000 วินาทีในราคา 17 ล้านบาท เป็นต้น

Comments are closed.

ข่าวสารย้อนหลัง
Who's Online
3 visitors online now
1 guests, 2 bots, 0 members
Powered by Visitor Maps