NASA วิจัยระบบทำนายสึนามิต้นแบบด้วย GDGPS

แหล่งข่าว : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000082648
และแหล่งข้อมูลสำคัญ http://www.gdgps.net/
NASA Global Differential GPS System

ทีมวิจัยนาซา สาธิตระบบทำนายสึนามิต้นแบบเป็นครั้งแรก ซึ่งเข้าถึงข้อมูลแผ่นไหวครั้งใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และประเมินออกมาเป็นความรุนแรงของสึนามิที่จะเกิดขึ้นได้
       หลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 8.8 ริกเตอร์ที่ชิลี เมื่อ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาโทนี ซอง (Y.Tony Song) นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) หรือเจ็ทแล็บ (Jet Lab) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ใช้ข้อมูลตามเวลาจริงจากเครือข่ายโกลบอลดิฟเฟอเรนเทียลจีพีเอส (Global Differential GPS) หรือ จีดีจีพีเอส (GDGPS) ของนาซา เพื่อทำนายขนาดของสึนามิที่ตามมาจากแผ่นดินไหวดังกล่าวได้สำเร็จ

      กราฟแสดงระบบการทำนายสึนามิ http://www.jpl.nasa.gov/images/earth/20100614/tsunami20100614-browse.jpg

ไซน์เดลีระบุว่า เครือข่ายซึ่งบริหารจัดการโดยเจ็ทแล็บนี้ รวมข้อมูลจากตำแหน่งจีพีเอสหลายร้อยจุดตามเวลาจริงทั่วโลกและในบริเวณที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว และยังประเมินตำแหน่งจีพีเอสทุกวินาที ซึ่งทำให้ตรวจวัดการเคลื่อนไหวภาคพื้นได้ละเอียดถึงระดับเซนติเมตร
       “การทดสอบที่ประสบความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นว่า สามารถใช้ระบบจีพีเอสชายฝั่งเพื่อทำนายขนาดของสึนามิได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสาธิตครั้งนี้ยังช่วยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบประกาศคำเตือนที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยในการรักษาชีวิตและลดการเตือนพลาด ที่เป็นสาเหตุรบกวนการใช้ชีวิตของประชากรชายฝั่งโดยไม่จำเป็นได้” ซองกล่าว
       ทีมของซองสรุปว่าแผ่นดินไหวที่ชิลี ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลก จากการบันทึกด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์นั้น ได้ทำให้เกิดสึนามิขนาดกลางที่ไม่น่าจะก่อความเสียหายใหญ่โตในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีผลกระทบจากสึนามิเล็กน้อยนอกชิลี
       การทำนายสึนามิของซองซึ่งมีฐานข้อมูลจากจีพีเอสนั้นได้รับการยืนยันภายหลัง โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท (Ohio State University) ในโคลัมบัส สหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้ข้อมูลการวัดความสูงของผิวน้ำทะเลด้วยดาวเทียมวัดความสูงเจสัน-1 (Jason-1) และ เจสัน-2 (Jason-2) ซึ่งเป็นดาวเทียมที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างนาซากับองค์การอวกาศฝรั่งเศส (French Space Agency)
       จอห์น ลาเบรค (John LaBrecque) ผู้จัดการโครงการโลกและอันตรายโดยธรรมชาติ (Solid Earth and Natural Hazards program) จากแผนกวิทยาศาสตร์โลก สำนักผู้อำนวยการปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (Science Mission Directorate) ของนาซา กล่าวว่า ค่าที่วัดจากระบบจีพีเอส ดาวเทียมวัดระดับความสูงและแบบจำลองโลกที่ทันสมัยทั้งหมดถูกนำมาใช้ในการสาธิตครั้งนี้
       สำหรับวิธีการพยากรณ์ของซองที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2007 ประมาณว่าพลังงานของแผ่นดินไหวใต้ทะเลได้ถ่ายโอนให้มหาสมุทรเพื่อก่อสึนามิขึ้น การพยากรณืดังกล่าวขึ้นอยู่กับข้อมูลของสถานีจีพีเอสชายฝั่งที่อยู่ใกล้จุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหว (epicenter) พร้อมด้วยข้อมูลความชันของแผ่นทวีป ซึ่งความชันของแผ่นทวีปคือการเคลื่อนของพื้นมหาสมุทรจากขอบของไหล่ทวีปไปยังก้นมหาสมุทร
       สำหรับระบบเตือนสึนามิแบบเดิมๆ นั้นขึ้นอยู่กับการคาดคะเนจุดเกิดแผ่นดินไหว ความลึกและความแรงแผ่นดินไหว เพื่อประเมินว่าอาจจะเกิดสึกนามิขนาดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าความแรงของแผ่นดินไหวไม่ได้เป็นตัวชี้วัดขนาดสึนามิ แบบจำลองสึนามิก่อนหน้านี้เชื่อว่ากำลังของสึนามินั้นประเมินได้จากพื้นทะเลถูกแทนที่ในแนวดิ่งมากแค่ไหน แต่ทฤษฎีของซองระบุว่าการเคลื่อนที่ในแนวนอนของแผ่นเปลือกโลก ก็มีผลต่อกำลังของสึนามิได้เช่นกัน โดยการถ่ายโอนพลังงานจลน์ให้แก่มหาสมุทร
       ทฤษฎีดังกล่าว ได้รับการยืนยันเพิ่มขึ้นจากงานวิจัยล่าสุดของซองและ ชิน-ชาน ฮัน (Shin-Chan Han) เพื่อนร่วมงานที่ศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ของนาซา ซึ่งการศึกษาดังกล่าวใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเกรซ (Grace) เพื่อประเมินสึนามิที่มหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004
       เมื่อเกิดสึนามิในวันที่ 27 ก.พ.2010 สถานีเครือข่ายจีดีจีพีเอสของนาซาที่ซันเทียโก ชิลี ตรวจจับการเคลื่อนไหวภาคพื้นดินที่อยู่ห่างจากจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว 235 กิโลเมตรได้ ซึ่งข้อมูลนี้ส่งถึงซองในเพียงไม่กี่นาที ทำให้เขาทราบข้อมูลการเคลื่อนไหวของพื้นทะเล
       ด้วยข้อมูลจีพีเอสนี้ซองได้คำนวณพลังงานของต้นกำเนิดสึนามิ และจัดอันดับความแรงอยู่ในระดับกลางๆ ที่ 4.8 โดยค่าสูงสุดคือ 10 ซึ่งหมายถึงการทำลายล้างสูงสุด ซึ่งการสรุปของเขานี้อยู่บนพื้นฐานความจริงว่าการเคลื่อนที่ของภาคพื้นนั้นถูกตรวจวัดได้ด้วยจีพีเอส ซึ่งชี้ว่าการเลื่อนของแผ่นทวีปได้ถ่ายโอนพลังงานจลน์ให้แก่มหาสมุทรพอควร
       “เราโชคดีที่มีสถานีที่มีศักยภาพอยู่ใกล้กับจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว และความร่วมมือระดับนานาชาติจำเป็นต่อการสร้างเครือข่ายติดตามจีพีเอสที่เพียงพอให้ครอบคลุมบริเวณรอยเลื่อน ซึ่งสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ทั่วโลก” ยอซ บาร์-เซเวอร์ (Yoaz Bar-Sever) ผู้จัดการระบบจีดีจีพีเอสของห้องปฏิบัติการเจ็ทแล็บกล่าว.

Leave a Reply

ข่าวสารย้อนหลัง
Who's Online
9 visitors online now
7 guests, 2 bots, 0 members
Powered by Visitor Maps